วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Thermal Imager คืออะไร


Thermal Imager หรือ Thermal Imaging Camera เป็นเครื่องมือวัดอุณหภูมิที่ผิวของวัตถุ ทำงานโดยอาศัยหลักการแผ่รังสีอินฟราเรด (infrared radiation) ออกจากวัตถุ ซึ่งเป็นการวัดแบบไม่สัมผัสและไม่ทำลายวัตถุ และเป็นการวัดอุณหภูมิแบบพื้นที่ มีส่วนประกอบสำคัญประกอบด้วย เลนส์ (lens) ตัวตรวจจับรังสีอินฟราเรด (infrared detector) หรือเซนเซอร์ชนิดอินฟราเรด (Infrared sensor) วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic circuit) และส่วนแสดงผล (display)

ดังนั้น Thermal Imager คือกล้องถ่ายภาพความร้อนโดยอาศัยหลักการ การแผ่รังสีอินฟราเรดจากวัตถุในการวัดอุณหภูมินั้นเอง

หลักการทำงานของกล้องถ่ายความร้อน Thermal Imager
หลักการทำงานของกล้องถ่ายความร้อน จะมีขั้นตอนเริ่มจาก ตัวตรวจจับรังสีอินฟราเรดรับรังสีอินฟราเรด (infrared) ที่แผ่ออกจากวัตถุเป้าหมาย (target) ผ่านเลนส์ของเครื่องมือวัด (instrument) แล้วแปลงรังสีอินฟราเรดเหล่านี้ให้อยู่ในรูปของสัญญาณทางไฟฟ้า โดยรังสีอินฟาเรดที่ตัวตรวจจับรับไปนั้นประกอบด้วยรังสีที่วัตถุเป้าหมายแผ่ออกมารวมกับรังสีที่แผ่จากวัตถุอื่นหรือจากสิ่งแวดล้อมสะท้อนออกจากผิวของวัตถุเป้าหมาย (ตามทฤษฎีการแผ่รังสีความร้อน:Theory of thermal radiation) จากนั้นวงจรอิเล็กทรอนิกส์จะทำหน้าที่แปลงข้อมูลที่รับมาจากตัวตรวจจับและนำ ไปแสดงที่ตัวแสดงผล ซึ่งอาจแสดงผลออกมาในรูปแบบของตัวเลข สี หรือกราฟ หรือทั้ง 3 รูปแบบ


หลักการทำงานของกล้องถ่ายความร้อน

ประโยชน์ของกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Imager)
กล้องถ่ายภาพความร้อนกำลังกลายเป็นที่นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบอาคารว่ามีประสิทธิภาพตรงกับสเปค, ใช้ตรวจว่าฉนวนถูกติดตั้งในสภาพที่ดี, หาตำแหน่งอากาศรั่วไหล, ตรวจสอบการออกแบบโครงสร้างและหาตำแหน่งที่มีความชื้นซึมออกมา ยังมีการใช้งานนอกเหนือจากนี้อีกซึ่งขึ้นอยู่กับการประยุกต์ของผู้ใช้เท่านั้น โดยทั่วไปในปัจจุบันได้นำมาใช้ในการเพื่อหาสภาพต่างๆ เช่นการเสื่อมของฉนวนในบ้าน หรือวงจรไฟฟ้าที่โอเวอร์โหลด ตัวอย่างอื่นๆ มีดังต่อไปนี้

- การตรวจสอบสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย
- การตรวจสอบความร้อนที่สูญเสียในอาคาร
- การหาตำแหน่งของสายไฟหรือท่อที่มีความร้อน
- การหาตำแหน่งที่เชื้อราเติบโต
- การหาตำแหน่งที่หลังคาอาคารรั่ว
- การหารูปแบบการกระจายความร้อนของท่อไอน้ำ
- การตรวจสอบแบริ่ง
- การตรวจสอบการรั่วของฉนวนในอุปกรณ์ทำความเย็น


การประยุกต์ใช้งานกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Imager) ในอุตสาหกรรม

ไม่เพียงเท่านั้นในสถาณการณ์ที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาด กล้องถ่ายความร้อนยังถูกนำมาใช้ในฐานะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อคัดแยกกลุ่มคนผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส COVID-19 นี่ด้วย เพราะการวัดอุณหภูมิด้วยภาพถ่ายความร้อน ไม่จำเป็นต้องเข้าไปใกล้ชิดเพื่อวัดอุณหภูมิเหมือนกับปืนวัดอุณหภูมิ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปไล่ยิงวัดอุณหภูมิทีละคนด้วย ทำให้การคัดกรองผู้คนได้อย่างรวดเร็ว

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การคำนวณฮาร์ดดิสก์สำหรับระบบกล้องวงจรปิด


เคยสงสัยกันไหมว่าระบบกล้องวงจรปิดของเรา สามารถดูภาพย้อนหลังได้กี่วัน และเวลาที่เราเลือกซื้อ Harddisk กล้อง ต้องเลือกซื้อความจุเท่าไร ถึงจะเพียงพอตามความต้องการของเรา ดังนั้นบทความนี้จะสอนวิธีขคำนวณ Harddisk โดยผ่านเว็บไซต์ Seagate เพื่อให้ทุกท่านนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อ HardDisk หรือนำไปใช้ตั้งค่าปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิดของทุกๆ ท่าน

เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานเว็บคำนวณ Harddisk ให้ทุกท่านคลิกที่ Link นี้ เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์คำนวณ Harddisk ของ Seagate ทันทีเลย และจะปรากฎหน้าต่างตามด้านล่างนี้


ก่อนที่เราจะเริ่มใช้งานโปรแกรมคำนวณ Harddisk เรามาดูกันก่อนว่าหัวข้อแต่ละตัวคืออะไรกันบ้าง

1. Number of Cameras จำนวนกล้องวงจรปิดที่เราจะใช้งานในระบบ
2. Frames per second ค่าเฟรมเรตของกล้องวงจรปิดของเรา
3. Hours per day จำนวนชั่วโมงที่เราจะให้กล้องวงจรปิดทำงาน ว่าจะให้บันทึกเวลากี่ชั่วโมงต่อวัน
4. Number of Days Stored จำนวนวันดูภาพย้อนหลัง ใส่จำนวนวันที่เราอยากดูย้อนหลัง
5. Resolution ความละเอียดภาพ ที่กล้องวงจรปิดของเรารองรับ
6. Video Quality คุณภาพของวีดีโอที่เราตั้งค่าเอาไว้ในเครื่องบันทึก
7. Compression Type เทคโนโลยีบีบอัดวีดีโอในเครื่องบันทึก ที่เราจะเลือกใช้
8. Required Storage Store ผลลัพธ์ของการคำนวณว่าสเปคระบบกล้องของเราควรมีความจุขั้นต่ำเท่าไหร่

ขั้นตอนการใช้งานโปรแกรมคำนวณ HardDisk

1. ปรับค่าทุกอย่างมาต่ำสุด แล้วใส่จำนวนกล้องวงจรปิดที่เราต้องการคำนวณลงไป


2. ใส่จำนวนชั่วโมงที่เราต้องการบันทึก ซึ่งแนะนำให้ใส่ 24 ชั่วโมงเข้าไป เพราะส่วนใหญ่เราเปิดใช้งานกล้องวงจรปิดตลอดทั้งวัน และหลังจากนั้นใส่จำนวนวันที่เราต้องการดูภาพย้อนหลังได้ในตัวอย่างภาพด้านล่างต้องการดูภาพย้อนหลังได้ 30 วัน


3. ใส่ค่าเฟรมเรตและความละเอียดของกล้องวงจรปิด ซึ่งจำนวนค่าเฟรมเรตส่วนใหญ่จะเริ่มที่ 25fps ให้ใส่จำนวนนี้เข้าก็ได้ ส่วนความละเอียดของกล้องวงจรปิดให้ดูบนกล้องหรือใบสเปคจากเว็บไซต์ต่างๆ


4. เลือกคุณภาพของไฟล์วีดีโอและเลือกการบีบอัดภาพ ซึ่งในหัวข้อนี้ให้ดูสเปคเครื่องบันทึกของเราว่ารองรับเทคโนโลยีการบีบอัดภาพแบบไหนได้บ้าง แล้วเลือกตัวที่เราต้องการจะใช้ในระบบ


5. เมื่อเลือกทุกอย่างเสร็จหมดเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ด้านขวาคือจำนวนความจุขั้นต่ำที่ต้องใช้


การคำนวณพื้นที่ Harddisk ทำให้เราทราบว่าระบบกล้องที่เราใช้งานอยู่สามารถดูภาพย้อนหลังได้กี่วัน เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อหรือเพิ่มความจุ Harddisk สำหรับช่างติดตั้งกล้องสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้เหล่านี้ ไปใช้ในการตั้งค่าระบบ หรือใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อนำเสนอและให้คำแนะนำกับลูกค้าได้ด้วย

ลิงก์อ้างอิงบทความ : https://www.seagate.com/as/en/video-storage-calculator/

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

องค์ประกอบของระบบเครือข่าย


ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือระบบเน็ตเวิร์ก คือ กลุ่มของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาเชื่อมต่อกันเพื่อให้ผู้ใช้ในเครือข่ายสามารถติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในเครือข่ายร่วมกันได้ เครือข่ายนั้นมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกันด้วยคอมพิวเตอร์เพียงสองสามเครื่อง เพื่อใช้งานในบ้านหรือในบริษัทเล็กๆ ไปจนถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก ส่วน Home Network หรือเครือข่ายภายในบ้าน ซึ่งเป็นระบบ LAN ( Local Area Network) เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กๆ หมายถึง การนำเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มาเชื่อมต่อกันในบ้าน สิ่งที่เกิดตามมาก็คือประโยชน์ในการใช้คอมพิวเตอร์ด้านต่างๆ

องค์ประกอบพื้นฐานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

การที่คอมพิวเตอร์จะสามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ ต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

คอมพิวเตอร์
แน่นอนว่าเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ก็จะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่น หรือยี่ห้อเดียวกัน หรือจะเป็นคอมพิวเตอร์ต่างประเภทก็ได้ เราสามารถนำเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุค เชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้



อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่นๆ
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างเช่น เครื่องพิมพ์ แฟกซ์ สแกนเนอร์ หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอื่นๆ เป็นต้น โดยเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเครือข่ายแล้ว ผู้ใช้ในเครือข่ายก็สามารถใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ได้โดยเรียกใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้เอง เช่น ส่งเอกสารไปพิมพ์ที่เครื่องพิมพ์สำหรับเครือข่าย เป็นต้น



สายสัญญาณ
สายที่ใช้เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ในเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายแบบด้วยกัน แต่ละแบบจะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูล และราคาแตกต่างกันไป ส่วนการจะเลือกใช้สายสัญญาณแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายคู่บิดเกลียว แต่ว่าในปัจจุบันหลายแห่งได้เริ่มมีการเปลี่ยนมาเป็นสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) แทน เนื่องจากให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้มากกว่า



อุปกรณ์เครือข่าย
อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในเครือข่ายทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการรับ- ส่งข้อมูลในเครือข่าย   หรือใช้สำหรับทวนสัญญาณเพื่อให้การรับ-ส่งข้อมูลได้ดี และส่งในระยะที่ไกลมากขึ้น   หรือใช้สำหรับขยายเครือข่ายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น อุปกรณ์เครือข่ายที่พบเห็นโดยทั่วไป เช่น

           ฮับ (Hub) อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมกันระหว่างกลุ่มของคอมพิวเตอร์   ฮับมีหน้าที่รับส่งเฟรมข้อมูลทุกเฟรมที่ได้รับจากพอร์ตใดพอร์ตหนึ่ง   เพื่อส่งไปยังทุก ๆ พอร์ตที่เหลือ คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับฮับจะแชร์แบนด์วิธหรืออัตราข้อมูลของเครือข่าย



           สวิตซ์ (Switch) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อ LAN สองเครือข่ายเข้าด้วยกัน  โดยจะต้องเป็น LAN ชนิดเดียวกัน และก็ใช้โปรโตคอลในการรับส่งข้อมูลเหมือนกัน เช่น ใช้ในการเชื่อมต่อ Ethernet LAN ทั้งสองเครือข่ายเข้าด้วยกัน



           เราท์เตอร์ ( Router ) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อในระบบเครือข่ายกับหลายระบบเข้าด้วยกันที่คล้ายกับบริดจ์  แต่ก็มีส่วนการทำงานจะซับซ้อนมากกว่าบริดจ์มาก  โดยเราท์เตอร์ก็มีเส้นทางการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละเครือข่ายเก็บไว้เป็นตารางเส้นทาง เรียกว่า  Routing Table  ทำให้เราท์เตอร์สามารถทำหน้าที่จัดหาเส้นทาง และเลือกเส้นทางเหมาะสมที่สุดเพื่อใช้ในการเดินทาง  และเพื่อการติดต่อระหว่างเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ



โปรโตคอล (Protocol)
ในการเชื่อมโยงของเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ ในแต่ละเครื่องอาจก็ต้องมีระบบที่เหมือนกัน หรือแตกต่างกัน เช่นในการใช้งานในเครือข่ายจึงต้องเป็นมาตรฐานหรือระเบียบที่ใช้ในการติดต่อให้แต่ละเครื่องมีวิธีการสื่อสารที่เป็นไปตามแนวทางเดียวกันได้  เพื่อให้เป็นการเชื่อมโยงข้อมูล และในการติดต่อสื่อสารของเครื่องคอมพิวเตอร์ในแต่ละเครื่องต้องมีความเข้าใจถูกต้องตรงกันและสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี  ไม่เกิดความเสียหายนั้นเกิดขึ้น จึงมีการกำหนดวิธีการมาตรฐานขึ้นเรียกว่า โปรโตคอล ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าโปรโตคอล  หมายถึง  กฎเกณฑ์  ข้อตกลง  ภาษาสื่อสาร รูปแบบ วิธีการเชื่อมต่อของเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย (ระบบใดๆ ก็ตาม)ให้สามารถติดต่อสื่อสารมีการใช้งานร่วมกันได้หลากหลาย

ซอฟต์แวร์เครือข่ายหรือระบบปฏิบัติการเครือข่าย
ทำหน้าที่จัดการระบบเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมต่ออยู่กับเครือข่าย สามารถติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่จัดการด้านการรักษาความปลอดภัย ของระบบเครือข่าย และยังมีหน้าที่ควบคุม การนำโปรแกรมประยุกต์ ด้านการติดต่อสื่อสาร มาทำงานในระบบเครือข่ายอีกด้วย นับว่าซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเครือข่าย มีความสำคัญต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างยิ่ง

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เกร็ดความรู้ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition)



เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาก้าวไกล และถูกนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง หนึ่งในเทคโนโลยีเหล่าที่มีบทบาทกับชีวิตของเรามากที่สุดก็คือ เทคโนโลยีการรู้จดจำใบหน้า หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ระบบสแกนใบหน้า เทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้สร้างระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการจดจำใบหน้า แต่ว่าเทคโนโลยีการรู้จดจำใบหน้านี้สามารถพัฒนาไปได้ไกล เกินกว่าที่ทำได้แค่จดจำใบหน้าของเราเท่านั้น

เทคโนโลยีการเรียนรู้จดจำใบหน้า(Face Recognition) คืออะไร ?
เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเรียนรู้และจดจำโครงสร้างใบหน้าของมนุษย์ แล้วนำข้อมูลใบหน้าที่จดจำหรือตรวจจับได้ส่งไปให้ระบบ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์หรือประมวลผลในการทำงานในส่วนขั้นตอนอื่นๆ อีกต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีที่นำระบบการเรียนรู้จดจำใบหน้า ไปใช้งานมากที่สุดคือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Access Control ระบบกล้องวงจรปิด หรือ ระบบรักษาความปลอดภัยในมือถือของเราก็ด้วย

หลักการทำงานของเทคโนโลยี Face Recognition
หลักการทำงานของ Face Recognition คือ การสร้างโมเดลการอ้างอิง ที่เรียกว่า ?faceprint? ขึ้นมา โดยระบบจะวิเคราะห์จากลักษณะเฉพาะต่างๆ บนใบหน้า เช่น โครงหน้า ความกว้างของจมูก ระยะห่างระหว่างตาทั้งสองข้าง ขนาดของโหนกแก้ม ความลึกของเบ้าตา รวมถึงพื้นผิวบนใบหน้า (facial texture) เป็นต้น จากนั้น ระบบจะทำการสร้างจุดเชื่อมโยงบนใบหน้า (nodal points) เพื่อเปรียบเทียบกับรูปภาพที่ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูล (data base) ทั้งในลักษณะภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อความแม่นยำในการระบุตัวตนของผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ


Face Recognition กับ ระบบสแกนใบหน้า
หลายๆ คนมักจะเข้าใจว่าระบบสแกนใบหน้ากับเทคโนโลยี Face Recognition นั้นเป็นระบบตัวเดียวกัน ดังนั้นจึงจะขออธิบายการทำงานของระบบสแกนใบหน้ากันก่อน ซึ่งมีหลักการทำงานอยู่ 2 ขั้นตอน ดังนี้

1. การตรวจจับใบหน้า (Face Detection) คือกระบวนการค้นหาใบหน้าของบุคคลจากภาพหรือวิดีโอ จากนั้นก็จะทำการประมวลผลภาพใบหน้าที่ได้สำหรับขั้นตอนถัดไปเพื่อให้ภาพใบหน้าที่ตรวจจับได้ง่ายต่อการจำแนก

2. การรู้จดจำใบหน้า (Face Recognition) คือกระบวนการที่ได้นำภาพใบหน้าที่ตรวจจับได้และประมวลผลแล้วจากขั้นตอนการตรวจจับใบหน้า มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของใบหน้าเพื่อระบุว่าใบหน้าที่ตรวจจับได้ตรงกับบุคคลใด แล้วจึงนำผลลัพธ์ที่ได้ ส่งไปให้ระบบหรือโปรแกรมเพื่อประมวลผลอื่นๆ ต่อไป


ดังนั้นเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้า หรือ Face Recognition เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบสแกนใบหน้าที่นำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเข้ามาช่วยด้วย จนเกิดเป็นเทคโนโลยี AI อัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์และจดจำใบหน้าของเรานั้นได้

ประโยชน์ของเทคโนโลยีการรู้จดจำใบหน้า (Face Recognition)
ดังที่กล่าวข้างต้นระบบที่นำเทคโนโลยี Face Recognition มาใช้มากที่สุดคือระบบรักษาความปลอดภัย อย่างระบบ Access Control ที่ใช้อุปกรณ์สแกนใบหน้าควบคุมการเปิดปิดประตู และนอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับระบบลงเวลาได้ด้วย อย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ใช้ระบบสแกนใบหน้าในการลงเวลาเข้าออกโรงเรียนของนักเรียน แทนการสแกนบัตรหรือเช็คชื่อแบบปกติ

นอกจากนี้ในวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ประเทศจีน ก็ได้มีนำเทคโนโลยีการรู้จดจำใบหน้า มาใช้สร้างเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยภาพถ่ายความร้อน (Thermal Imager) มาใช้ในการคัดกรอกผู้มีโอกาสติดเชื้อ ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสตัวกับ ผู้คนเหล่านั้น ทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อ COVID-19 และมีความแม่นยำในการระบุหน้าคนสูง สามารถระบุได้ว่าคนๆ นั้นเป็นใครแม้ใส่หน้ากาก

การพัฒนาของเทคโนโลยีการรู้จดจำใบหน้าในอนาคต
ในตอนนี้มีอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยี Face Recognition และระบบสแกนใบหน้า มาพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้แก่ตนเอง อย่างบริษัทแห่งหนึ่งที่พัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถคาดเดาอารมณ์ของมนุษย์ ว่าสีหน้าของเขาตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร หรือการพัฒนาประสิทธิภาพให้จดจำใบหน้าได้แม้จะปิดบังหน้าเพื่อค้นหาผู้สูญหายหรืออาชญกร ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำเอาเทคโนโลยี Face Recognition มาประยุกต์ใช้มากขึ้นอีกก็เป็นได้